เตรียมตัววางแผนให้ดี หากเจ็บป่วยที่สหรัฐอเมริกา
ปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ล่วงหน้า ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นได้เสมอ ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหากใครที่ได้ติดตามข่าวสารยูทูปเบอร์ล้มป่วยในอเมริกา ทำให้ต้องส่งตัวกลับไทยด้วยเหตุผลบางประการ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนัก เลยทำให้เขาต้องกลับพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่มหาศาล นั่นคงทำให้คุณกังวลใจได้ไม่น้อย เพราะหากสมมุติคุณกลายเป็นคนนั้นจริง ๆ คุณคงมืดแปดด้านหาทางออกไม่ได้เหมือนกัน
แต่อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเราจะมาแช่งหรือพูดจาไม่ดีใส่ เราเพียงต้องการบอกคุณว่า ‘อะไรๆก็เกิดขึ้นได้’ เพราะงั้นวันนี้เราจึงมีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับที่คนกำลังวางแผนไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา อาจจะไปเที่ยว ไปเรียน ไปทำงาน หรือด้วยวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม เรื่องสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องใส่ใจ เพราะหากเจ็บป่วยขึ้นมาเชื่อได้เลยว่าค่ารักษาที่นั่นไม่ใช่เรื่องหมู ๆ แน่นอน

ระบบประกันสุขภาพสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างไร
โดยพื้นฐานแล้วที่สหรัฐอเมริกาจะไม่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Universal Healthcare) เหมือนในประเทศไทย (คนที่นั่นยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หากรัฐเข้ามาช่วยเหลือจะเท่ากับว่าถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวและสิทธิเสรีภาพ) ประกันสุขภาพที่นั่นรัฐบาลจะมีให้ทั้งหมด 2 โครงการ ได้แก่ Medicare และ Medicade
- Medicare : เป็นหลักประกันสังคมที่ไว้คุ้มครองผู้สูงอายุที่เกษียณและอายุ 65 ปีขึ้นไปแล้วเท่านั้น จะได้รับความคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต่อเมื่อทำงานและจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่ยังทำงานและจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 10 ปี ก็จะต้องออกค่าส่วนต่างเพิ่มเติม
- Medicade : เป็นโครงการสำหรับคนยากจนเท่านั้น โดยรัฐบาลส่วนกลาง มลรัฐ และหน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ (มลรัฐมีหน้าที่ในการจัดการโครงการนี้) สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้าโครงการ จะยึดเกณฑ์รายได้มาเป็นตัวตั้ง แต่ละมลรัฐก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป รวมถึงค่ารักษาที่ครอบคลุมก็ไม่เหมือนกันด้วย
ซึ่งหากทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ คือโครงการประกันสุขภาพของที่นั่นจะคุ้มครองเพียงแค่ผู้สูงอายุ(ตามเงื่อนไข) และคนยากจนเท่านั้น ส่วนคนวัยทำงานและบุคคลทั่วไป จะไม่มีระบบประกันสุขภาพให้ ประชาชนจะต้องหันไปซื้อประกันสุขภาพเอกชนตามกำลังและตามรายได้ของตัวเองแทน โดยค่าประกันที่นั่นจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน / 120,000 บาทต่อปี

แล้วค่ารักษาพยาบาลที่สหรัฐฯ ล่ะ แพงไหม?
หากถามว่าค่ารักษาพยาบาลที่สหรัฐฯ เป็นอย่างไร ถ้าตอบตามเกณฑ์รายได้ในประเทศไทย คงจะตอบตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมเลยว่า ‘แพง’ นั่นอาจจะเพราะส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศมีการพัฒนา มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญในการรักษาค่อนข้างสูง เมื่อเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลจึงทำให้ค่ารักษาสูงตามไปด้วย
แต่ถึงอย่างไรค่าใช้จ่ายในแต่ละท้องถิ่นก็อาจมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนักสักเท่าไหร่ โดยด้านล่างนี้ก็เป็นการประมาณค่ารักษาพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรานำมาฝาก
- เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน : ค่าใช้จ่ายประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,000 บาท
- พบแพทย์ฉุกเฉิน : 150 – 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,800 – 96,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายสำหรับนอนโรงพยาบาล 1 คืน : 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,000 บาท
- พบแพทย์ทั่วไป : 100 – 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,200 – 6,400 บาท
- MRI : 1,000 – 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32,000 – 160,000 บาท
- X-ray : 100 – 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,800 – 96,000 บาท
- แขน/ขาหัก : 500 – 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,000 – 80,000 บาท กรณีผ่าตัด 7,000 – 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 224,000 – 1,120,000 บาท
รายการข้างต้นเป็นเพียงราคาที่เฉลี่ยหรือการประมาณเท่านั้น บางพื้นที่อาจถูกกว่าหรืออาจแพงกว่าเฉลี่ย ๆ กันไป ทั้งหมดนี้ยังไม่เหมารวมกับค่ารักษาโควิดในสหรัฐฯ ที่สูงจนทำให้หลายคนช็อคไปตาม ๆ กัน ซึ่งหากถามว่ามีตัวเลือกที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลดลงไหม ในกรณีของนักท่องเที่ยว คนที่เรียนต่อ หรือคนกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถเลือกใช้เป็น ประกันภัยการเดินทางสำหรับท่องเที่ยวได้ แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่ก็เลือกใช้บริการประกันสุขภาพของเอกชนอยู่แล้วนั่นเองค่ะ